การดูแลและบำรุงรักษาหม้อไอน้ำ ง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก
ข้อแนะนำที่จะปรากฏต่อไปนี้ในบทความ จะเป็นแนวทางการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive maintenance) สำหรับหม้อไอน้ำที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้
1. บทนำบทความนี้จะนำเสนอแนวทางการปฏิบัติงานสำหรับผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับหม้อไอน้ำ อนึ่งผู้ที่จะทำงานเกี่ยวข้องกับหม้อไอน้ำจะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ประกอบด้วย กล่าวคือ
* ได้รับการอบรมอย่างเหมาะสมสำหรับการปฏิบัติงานกับหม้อไอน้ำ
* มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับหม้อไอน้ำเป็นอย่างดี
* มีความคุ้นเคยกับอุปกรณ์ต่างๆ
* มีความขยันหมั่นเพียรที่จะปฏิบัติงานให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี
2. การทำงานกับหม้อไอน้ำ
2.1 การดูแลรักษาหม้อไอน้ำ
1. มีความรู้ที่ดีพอสำหรับหม้อไอน้ำและอุปกรณ์ประกอบอื่นๆ ที่ทำงานสนับสนุนหม้อไอน้ำ ควรขอ manual, drawing และข้อมูลที่จำเป็นอื่นๆ จากผู้ผลิต หรือผู้ติดตั้ง เก็บข้อมูลเหล่านั้นไว้ในสถานที่ที่สามารถหยิบใช้ได้สะดวก ฝึกอบรมพนักงานให้มีความเข้าใจข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหม้อไอน้ำ และควรฝึกให้เปิด manual ทุกครั้งที่เกิดปัญหาขึ้นระหว่างการปฏิบัติงานกับหม้อไอน้ำ
2. บันทึกข้อมูลต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ และควรจำแนกอุปกรณ์ต่างๆ ที่ต้องการการบำรุงรักษาออกมาเป็นหัวข้ออาจจะเขียนใน Index card หรือเก็บไว้ในฐานข้อมูลของคอมพิวเตอร์ หรือกล่าวง่ายๆ ก็คือควรทำประวัติเครื่องจักรอย่างละเอียดนั่นเอง
3. ควรสร้างแผนการดูแล แผนการบำรุงรักษาในแต่ละช่วงเวลาตั้งแต่ การบำรุงรักษารายวัน, สัปดาห์, เดือน, ครึ่งปี และ 1 ปี ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ควรจำแนกออกมาให้ชัดเจน
4. ควรออกแบบ log sheet หรือ check sheet ที่ใช้สำหรับบันทึกข้อมูลการตรวจสอบหม้อไอน้ำและอุปกรณ์ประกอบในแต่ละช่วงเวลา ตามที่ได้เขียนแผนเอาไว้แล้วว่าจะทำอะไรบ้าง อนึ่ง log sheet ที่จะออกแบบนี้จะต้องสื่อให้เห็นถึงข้อมูลที่สำคัญที่เกี่ยวกับการทำงานของหม้อไอน้ำ หลังจากออกแบบ และนำไปใช้จริงแล้ว ควรปรับปรุงเรื่อยๆ จนกระทั่งสามารถใช้งานได้ง่ายและสามารถเก็บบันทึกข้อมูลที่สำคัญๆ ได้ครบถ้วนตามที่ต้องการ
5. ควรเขียน คู่มือการทำงาน (อาจจะเรียกว่า work instruction: WI) ต่างๆ ที่สำคัญสำหรับการทำงานที่เกี่ยวข้องกับหม้อไอน้ำ เช่นคู่มือการเริ่มทำงานสำหรับหม้อไอน้ำ เป็นต้น คู่มือการทำงานที่ได้เขียนขึ้นทั้งหมด จะทำให้การทำงานเกี่ยวข้องกับหม้อไอน้ำของฝ่ายต่างๆ มีความเป็นมาตรฐานเดียวกัน และช่วยให้ผู้ที่ไม่มีประสบการณ์หรือไม่มีความรู้ในการทำงานกับหม้อไอน้ำสามารถอ่านทำความเข้าใจ เพื่อช่วยให้การปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
6. การทำความสะอาดพื้นที่โดยรอบหม้อไอน้ำ จะต้องทำอย่างสม่ำเสมอและอย่างเข้มแข็ง เพื่อทำให้การซ่อมบำรุงและการบำรุงรักษาหม้อไอน้ำเป็นไปด้วยดีและอย่างมีคุณภาพ
7. ทำความสะอาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อย่าให้มีฝุ่นเกาะ เพราะจะส่งผลต่อการควบคุมการทำงานของอุปกรณ์นั้น ให้ทำงานผิดพลาดได้
8. ต้องมั่นใจว่ามีอากาศสะอาดเพียงพอสำหรับห้องหม้อไอน้ำ เพราะอากาศเป็นส่วนประกอบหนึ่งของการเผาไหม้เชื้อเพลิงของหม้อไอน้ำ ตัวกรองอากาศต้องหมั่นดูแลทำความสะอาด ในฤดูฝนที่อากาศเย็น อาจจำเป็นต้องติดตั้งเครื่องให้ความร้อน เพื่อทำให้อากาศมีอุณหภูมิเท่ากับอุณหภูมิห้องปกติ (ประมาณ 30 ?C)
9. บันทึกข้อมูลการใช้เชื้อเพลิงอย่างรัดกุม ซึ่งข้อมูลนี้จะแสดงให้เห็นอาการผิดปกติของหม้อไอน้ำได้ เมื่ออัตราการใช้เชื้อเพลิงเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที
10. ในขณะที่หม้อไอน้ำหยุดการทำงาน หรืออยู่ในช่วงที่ไม่ได้ใช้งาน ควรปฏิบัติตามเทคนิควิธีที่ปลอดภัยดังต่อไปนี้คือ ปิดการเชื่อมต่อของแหล่งจ่ายพลังงานต่างๆ ที่เข้าสู่หม้อไอน้ำ และปิดสวิตช์ต่างๆ ไปยังตำแหน่ง off หากมีหม้อไอน้ำมากกว่าหนึ่งลูกที่ต่ออยู่กับ header ให้ปิดวาล์วทางเข้าของไอน้ำจากหม้อไอน้ำลูกนั้นๆ อาจจะเพื่อทำการตรวจเช็คหรือเพื่อการซ่อมบำรุงก็ตาม ควรปิด damper ทางออกของแก๊สไอเสียทุกจุด และควรปฏิบัติตาม manual ของหม้อไอน้ำอย่างเคร่งครัด
2.2 ข้อมูลพื้นฐานที่ต้องบันทึก
ข้อมูลพื้นฐานของหม้อไอน้ำที่ควรทำการบันทึกเพื่อสะดวกต่อการเรียกหาใช้งาน และเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการออกแบบ Log sheet แบ่งออกกว้างๆ ได้ดังนี้
1. Name plate ของหม้อไอน้ำและอุปกรณ์ทุกตัวที่ทำงานร่วมกับหม้อไอน้ำ รวมถึงข้อมูลดังต่อไปนี้คือ หมายเลขแสดงรุ่นของหม้อไอน้ำหรืออุปกรณ์ต่างๆ, serial number, ชนิดของเชื้อเพลิง, ความดันที่หม้อไอน้ำสามารถทำได้และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือกล่าวง่ายๆ ว่าเป็นข้อมูลจำเพาะของหม้อไอน้ำนั่นเอง
2. ชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์, โทรสารของผู้ผลิต จำหน่าย ติดตั้งหม้อไอน้ำ และของผู้จำหน่ายอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งผู้จำหน่ายเชื้อเพลิง เพื่อสามารถจะสอบถามปัญหาต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที
3. การดูแลรักษาหม้อไอน้ำ
3.1 การบำรุงรักษาทุกวัน
1. เช็คระดับน้ำใน Gauge glass หากพบว่าระดับน้ำไม่คงที่ สามารถจะเกิดจากปัญหาต่าง ๆ ได้ เช่น การปนเปื้อนของน้ำมัน, การทำงานเกินตัว (overload) , การทำงานผิดพลาดของระบบควบคุมการจ่ายน้ำ เป็นต้น นอกเหนือจากเช็คระดับน้ำแล้ว จะต้องมั่นใจว่ามีน้ำอยู่ใน gauge glass ทุกครั้งที่ทำการตรวจเช็ค
2. ทำการ blow down หม้อไอน้ำ โดยจะต้องเป็นไปตามคำแนะนำของที่ปรึกษาทางด้านระบบน้ำป้อน ทุกครั้งที่ทำการ blow down จะต้องมีการตรวจสอบคุณภาพน้ำและส่วนประกอบทางเคมีด้วย
3. ตรวจสอบการเผาไหม้ด้วยสายตา โดยการดูลักษณะของเปลวไฟ หากลักษณะของเปลวไฟเปลี่ยนแปลงไป แสดงว่าต้องมีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว จะต้องทำการสืบหาต้นเหตุของปัญหาต่อไป
4. ปรับสภาพน้ำให้เป็นไปตามโปรแกรมที่ตั้งเอาไว้ และต้องมีการสุ่มตรวจเช็คทุกวัน
5. บันทึกความดันหรืออุณหภูมิของน้ำในหม้อไอน้ำ (อาจจะบันทึกมากกว่าหนึ่งครั้งในหนึ่งวัน) เพราะค่าทั้งสองหากเปลี่ยนแปลงไปจากปกติหรือค่าที่ตั้งเอาไว้ แสดงว่าต้องเกิดความผิดปกติกับหม้อไอน้ำ
6. บันทึกอุณหภูมิและความดันของน้ำป้อน หากอุณหภูมิและความดันมีค่าเปลี่ยนแปลงไป แสดงว่าเกิดความผิดพลาดขึ้นในกระบวนการทำงาน เช่น ปั๊มน้ำป้อน เป็นต้น
7. บันทึกอุณหภูมิของปล่องไอเสีย หากอุณหภูมิของปล่องไอเสียเปลี่ยนแปลงไป แสดงว่าปล่องไอเสียมีเขม่าจับเยอะ, มีหินปูนเกาะภายในหม้อไอน้ำ, เกิดปัญหากับอิฐทนไฟหุ้มหม้อไอน้ำ เป็นต้น
8. บันทึกอุณหภูมิและความดันของน้ำมันเชื้อเพลิง (หม้อไอน้ำที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง) การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและความดัน จะส่งผลต่อการเผาไหม้ โดยปัญหาอาจจะเกิดจาก oil heater หรือ oil regulator
9. บันทึกความดันของ oil atomizer เพราะการเปลี่ยนแปลงของความดันจะส่งผลกระทบต่อการเผาไหม้ของหม้อไอน้ำ
10. บันทึกค่าความดันของแก๊ส (หม้อไอน้ำที่ใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิง) การเปลี่ยนแปลงของความดัน จะส่งผลต่อการเผาไหม้ โดยปัญหาอาจจะเกิดจากระบบการจ่ายแก๊ส
11. เช็คการทำงานโดยทั่วๆ ไปของหม้อไอน้ำและระบบการเผาไหม้ พยายามให้การทำงานอยู่ที่ระดับประสิทธิภาพสูงสุดอยู่เสมอ หากมีสิ่งใดเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ ต้องตอบให้ได้ว่าเพราะอะไร และจะส่งผลต่ออะไรบ้าง
12. บันทึกอุณหภูมิของไอน้ำที่ผลิตได้และน้ำที่กลับสู่หม้อไอน้ำ เพื่อเป็นการเผ้าระวังการทำงานของหม้อไอน้ำ
13. บันทึกปริมาณการเติมน้ำเข้าสู่หม้อไอน้ำ หากปริมาณการเติมน้ำมากเกินไป แสดงว่าเกิดปัญหาขึ้นภายในระบบ ต้องรีบหาต้นตอของปัญหาและรีบแก้ไข
14. เช็คการทำงานของอุปกรณ์เสริมต่างๆ ให้เป็นไปตามที่ควรจะเป็น (หมายถึงว่าจะต้องทำงานได้ตาม Spec ที่อุปกรณ์นั้นๆ ถูกตั้งค่าเอาไว้) เพราะการทำงานที่ผิดปกติของอุปกรณ์เสริมอื่นๆ สามารถทำให้หม้อไอน้ำเกิดปัญหาขึ้นได้
3.2 การบำรุงรักษาทุกสัปดาห์
1. ตรวจสอบว่าวาล์วของท่อจ่ายเชื้อเพลิงแน่นสนิทดีหรือไม่ ตรวจสอบเพื่อความมั่นใจว่าหากหม้อไอน้ำหยุดการใช้งานจะไม่มีเชื้อเพลิงรั่วไหลจากวาล์วได้
2. ตรวจสอบรอยต่อ หรือ หน้าแปลนที่ยึดท่อ ต่างๆ ให้มั่นใจได้ว่าสกรูขันแน่นสนิทดี ไม่มีการรั่วไหลของเชื้อเพลิงหรืออากาศออกมาตามหน้าแปลนเหล่านั้น
3. ตรวจสอบการทำงานของไฟส่องสว่างฉุกเฉินและสัญญาณเตือน ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นในห้องหม้อไอน้ำ ว่ายังทำงานปกติดีอยู่หรือไม่ ตรวจสอบไฟสัญญาณทุกหลอดและสัญญาณเตือนอื่นๆ ที่จะต้องทำงานสัมพันธ์กับหม้อไอน้ำ ว่ายังทำงานปกติดีอยู่หรือไม่
4. ตรวจสอบการทำงานของอุปกรณ์ควบคุมว่ายังทำงานตามค่า set point ที่ได้ตั้งเอาไว้หรือไม่ และควรทวนสอบการทำงานของเกจวัดความดันและอุณหภูมิของหม้อไอน้ำว่ายังแสดงค่าที่ถูกต้องอยู่หรือไม่
5. ตรวจสอบอุปกรณ์ทางด้านความปลอดภัยและ Interlock เพื่อความแน่ใจได้ว่าหากเกิดเหตุผิดปกติกับหม้อไอน้ำ อุปกรณ์ทางด้านความปลอดภัยและ interlock จะยังทำงานได้ตามปกติ
6. ตรวจสอบการทำงานของอุปกรณ์ควบคุมระดับน้ำ
7. ตรวจสอบการรั่ว, เสียงดัง, การสั่นสะเทือน และ การทำงานอื่นๆ ที่ผิดไปจากปกติ เป็นต้น เนื่องจากหากทำการตรวจสอบเป็นประจำแล้วจะทราบได้ทันทีว่าหม้อไอน้ำทำงานผิดปกติ ซึ่งจะได้รีบดำเนินการแก้ไขต่อไป ก่อนที่จะลุกลามเป็นปัญหาใหญ่โต
8. ตรวจสอบการทำงานของมอเตอร์ขับทุกตัวที่ทำงานเกี่ยวข้องกับหม้อไอน้ำ เช่น ฟังเสียง ตรวจเช็คอุณหภูมิของมอเตอร์ ดูการสั่นสะเทือน หากผิดปกติจะต้องรีบดำเนินการแก้ไข
9. ตรวจสอบระดับของน้ำมันหล่อลื่นของอุปกรณ์ทุกตัวตามที่คู่มือกำหนดเอาไว้ ว่ายังมีปริมาณที่เพียงพอสำหรับการใช้งานหรือไม่
10. ตรวจสอบ gauge glass เพื่อให้มั่นใจได้ว่าไม่มีรอยแตกร้าวขึ้น และต้องไม่มีรอยรั่วโดยรอบ
3.3 การบำรุงรักษาทุกเดือน
1. ตรวจสอบการทำงานของ burner โดยดูจากลักษณะของเปลวไฟที่เผาไหม้ และอื่นๆ ตามที่คู่มือระบุ
2. วิเคราะห์การเผาไหม้ โดยทำการสุ่มวิเคราะห์จากแก๊สไอเสีย และจะต้องทำการเปรียบเทียบผลการวิเคราะห์กับเดือนที่ผ่านมา ว่าผลเป็นอย่างไร การเผาไหม้ปกติดี เหมือนเดิม หรือไม่ปกติ จะได้รีบดำเนินการหาสาเหตุและแก้ไขต่อไป
3. ตรวจสอบท่อไอเสีย ไม่ให้มีรอยรั่ว มิฉะนั้นจะมีแก๊สไอเสียรั่วไหลเข้ามาภายในห้องหม้อไอน้ำได้
4. ตรวจสอบจุดที่ร้อนผิดปกติ บริเวณเปลือกหม้อไอน้ำโดยรอบ ซึ่งหากเจอจุดที่ร้อนผิดปกติอาจจะเกิดจากผนังอิฐทนไฟภายในแตกร้าว เป็นต้น จะต้องรีบดำเนินการหาสาเหตุและแก้ไข
5. ตรวจสอบน้ำที่ใช้กับหม้อไอน้ำ ว่าได้ผ่านการปรับปรุงคุณภาพน้ำมาหรือยัง และคุณภาพน้ำมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
6. ตรวจสอบว่ามีปริมาณอากาศที่เพียงพอสำหรับการเผาไหม้ โดยดูจากพื้นที่โดยรอบห้องหม้อไอน้ำที่จะต้องโปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก
7. ตรวจสอบตัวกรองต่างๆ ทำความสะอาดหรือหากจำเป็นก็เปลี่ยนเมื่อถึงอายุการใช้งาน
8. ตรวจสอบระบบการจ่ายเชื้อเพลิง พร้อมอุปกรณ์ประกอบอื่นๆ เช่น ปั๊มจ่ายเชื้อเพลิง, เกจวัดต่างๆ เป็นต้น ว่ามีการทำงานผิดปกติไปบ้างหรือไม่
9. ตรวจสอบสายพานขับอุปกรณ์ต่างๆ ว่ายังอยู่ในสภาพที่ยังใช้งานได้อยู่ และเช็คความตึงหย่อนของสายพานว่ายังสามารถใช้งานได้อยู่หรือไม่ หากไม่ตึง ต้องปรับตั้งให้กลับสู่สภาพพร้อมใช้งาน
10. ตรวจสอบการหล่อลื่น bearing ของอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีการหมุนว่ามีปริมาณจารบีเพียงพอหรือไม่ bearing มีการทำงานผิดปกติหรือไม่ มีเสียงดังหรือไม่ หากมีต้องรีบดำเนินการแก้ไข เช่นเปลี่ยน bearing ใหม่
3.4 การบำรุงรักษาทุก 6 เดือน
1. ทำความสะอาดอุปกรณ์ตัดการทำงานของหม้อไอน้ำ ในกรณีที่มีระดับของน้ำในหม้อไอน้ำต่ำกว่าค่าที่กำหนดเอาไว้ ตรวจสอบว่ามีตะกอน หรือสิ่งสกปรกมาอุดตันในอุปกรณ์ดังกล่าวบ้างหรือไม่ ทำความสะอาดให้หมดและหาสาเหตุว่าความสกปรกเหล่านี้มาจากไหน และแก้ไขปรับปรุงต่อไป
2. ตรวจสอบการทำงานของเครื่องอุ่นน้ำมันเชื้อเพลิง และตรวจเช็คว่ามีคราบตะกรันหรือสิ่งสกปรกเกาะติดอยู่ภายในเครื่องบ้างหรือไม่
3. ตรวจซ่อมอิฐทนไฟหรือผนังด้านในของหม้อไอน้ำ ตรวจเช็คว่ามีอิฐหรือผนังหม้อไอน้ำส่วนใดเสียหายให้รีบดำเนินการซ่อม โดยจะต้องเป็นไปตามที่กำหนดเอาไว้ในคู่มือ
4. ทำความสะอาดปั๊มน้ำมันและไส้กรองน้ำมัน เพื่อป้องกันไม่ให้มีสิ่งสกปรกอุดตัน อันจะส่งผลให้อัตราการไหลของน้ำมันไม่เป็นไปตามที่ต้องการ
5. ทำความสะอาด Air cleaner
6. ตรวจสอบ Alignment ของการหมุนของ coupling ของปั๊ม จะต้องไม่เบี่ยงเบนไปมากกว่าที่คู่มือกำหนดเอาไว้
7. ปรับตั้งระบบการเผาไหม้ใหม่ ทั้งนี้ก็ต้องทำหลังจากได้มีการตรวจสอบปริมาณของแก๊สต่างๆ ที่มีเหลืออยู่ในไอเสีย โดยจะต้องปรับตั้งการเผาไหม้ให้ค่าอัตราส่วนของแก๊สต่างๆ เป็นไปตามที่คู่มือกำหนดเอาไว้ และควรบันทึกค่าปริมาณแก๊สต่างๆ ในไอเสียอยู่ทุกเดือน เพื่อเป็นข้อมูลเอาไว้เปรียบเทียบ
8. ตรวจสอบสภาพของ Mercury switch ว่าอยู่ในสภาพที่แตกหักหรือมีรอยร้าวหรือไม่ และปริมาณของ mercury พร่องไปบ้างหรือไม่ จะต้องเติมให้ครบตามปริมาณที่ควรจะเป็น
3.5 การบำรุงรักษาทุกปี
1. ทำความสะอาดผนังด้านที่สัมผัสโดยตรงกับไฟ ด้วยแปรง หรืออุปกรณ์อื่นๆ ตามความเหมาะสม เพื่อขจัดคราบและเขม่าสกปรก หลังจากล้างทำความสะอาดแล้ว ให้ฉีดด้วยน้ำยาป้องกันการกัดกร่อน
2. ตรวจสอบสภาพของปล่องไอเสีย พร้อมทำความสะอาด
3. ตรวจสอบสภาพของถังบรรจุน้ำมัน และตรวจดูว่ามีน้ำอยู่ภายในถังหรือไม่ ควรเติมน้ำมันให้เต็มถังเสมอ เพื่อป้องกันการกลั่นตัวเป็นหยดน้ำภายในถัง
4. ตรวจเช็ควาล์วต่างๆ ไม่ควรให้มีการรั่วซึมของของเหลวได้
5. ตรวจเช็ค Gauge glass ว่าอยู่ในสภาพที่ยังใช้งานได้ หรือควรเปลี่ยนใหม่แล้ว
6. ตรวจสอบการทำงานของ Safety valve หากไม่มั่นใจควรเปลี่ยนใหม่ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานเสมอ
7. หากเป็นกรณีหม้อไอน้ำที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง ควรตรวจสอบสภาพของปั๊มน้ำมัน ว่าอยู่ในสภาพการทำงานอย่างไร ควรตรวจซ่อมประจำปีปั๊มน้ำมันตามคู่มือที่ระบุเอาไว้
8. ตรวจสอบสภาพและการทำงานของปั๊มน้ำป้อนหม้อไอน้ำ ให้อยู่ในสภาพที่ดีพร้อมใช้งาน
9.ทำความสะอาด Condensate receiver และตรวจสอบสภาพโดยทั่วไปของ receiver ด้วย
10. กวดขันน็อตยึดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ไฟฟ้าให้แน่น
สรุป
การใช้งานหม้อไอน้ำให้อยู่ในสภาพที่ดีตลอดเวลา จำเป็นต้องมีมาตรการ ทั้งในด้านของการตรวจเช็ค ตรวจสภาพ การเปลี่ยน และการซ่อม ในแต่ละช่วงเวลาของการทำงานเช่น ทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน ทุก6เดือน และทุกปี อนึ่งจากสิ่งที่ได้แนะนำไปนั้นเป็นเพียงแนวทางกว้างๆ อย่างไรก็ตาม ผู้อ่านควรอ้างอิงจากคู่มือของหม้อไอน้ำ ที่มีมาคู่กับการติดตั้งหม้อไอน้ำ ตามที่ผู้ผลิตได้แนะนำเอาไว้ เป็นแนวในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง อันจะนำไปสู่การใช้งานที่ยืนนานของหม้อไอน้ำและใช้งานได้อย่างปลอดภัย
อ.บัญญัติ นิยมวาส
คณะวิชาเครื่องกล สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตภาคใต้
MECHANICAL TECHNOLOGY JANUARY 2005